คีย์สโตน (Keystone)
  ตารางเปรียบเทียบLCD&DLP
  Interlace
  อัตราส่วนเปรียบต่าง ตอน1
  ปลั๊กสัญญาณภาพ
  เปรียบต่าง(Contrast)ตอนจบ
  โปรเจคเตอร์จอกว้าง
  Up-date ปี 2551
  โปรเจคเตอร์จิ๋ว
  ด้านหน้า/หลัง ของเลนส์
  ฉายภาพ
  เปรียบต่าง(Contrast) ตอน3
  โปรเจคเตอร์ที่มีระยะฉายสั้น
  BrighEra LCD ยุคใหม่
  ลูเมนขาว/ลูเมนสี
  เปรียบต่าง(Contrast) ตอน2
  Kell Factor
  เปรียบต่าง(Contrast) ตอน1
  ความละเอียดของ   
  วิชวลไลเซอร์
  Rainbow Color Artifact
  ปัญหา Screen Door Effect
  Rule of Sixth
  การเลือกซื้อจอภาพระบบ  
  LCD TV
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
Interlace
    

                เดิมตั้งใจจะไม่เขียนเรื่อง interlace เนื่องจากเป็นเทคโนโลยีที่เก่าและจวนจะหมดยุคในไม่ช้า แต่เมื่อถูกถามให้เขียนเรื่อง Scaler ถี่ขึ้น ผมจึงต้องปูฐานด้วยเรื่อง interlace และคงจะแถมเรื่อง noninterlace
                นอกจากนั้นยังต้องเขียนเรื่องพิกเซลที่เปลี่ยนขนาดได้ และพิกเซลที่ขนาดตายตัว และตามด้วยเรื่อง line doubler ถึงจะเขียนเรื่อง scaler ได้

                เห็นไหมครับ ว่าถ้ารู้อะไรเพียงผิวเผินอย่างที่หลายคนเผชิญอยู่ เมื่อพื้นฐานดีไม่พอ จึงมีการมั่วกันอุตลุด

                อีกเหตุผลหนึ่งที่เคยทำให้ไม่อยากเขียนเรื่อง interlace ก็เพราะเมื่อกว่า 10 ปีก่อน ผมไปบรรยายเรื่องscalerนี้ที่สถาบันการศึกษาแห่งหนึ่ง ซึ่งในครั้งนั้นผมยังหาเหตุผลที่จะสนับสนุนความเชื่อของผมไม่ได้ ว่าทำไมถึงใช้วิธีอินเทอร์เลส ผมเลยบอกผู้ฟังว่า เหตุผลที่ผมอธิบายไปนั้นเป็นความเชื่อของผม ทราบไหมครับว่าผู้ที่เชิญผมไปบรรยายถึงกับหัวเสีย เพราะรับไม่ได้ที่ผมนำเอาความเชื่อมาสอน แต่ตอนนี้ผมก็พบบทความที่จะสนับสนุนความเชื่อของผมแล้ว

                ที่ยอดไปกว่านั้นก็คือ หลังการบรรยายของผมสิ้นสุดลง ท่านนักวิชาการท่านนั้นก็ขึ้นเวทีและทำในสิ่งที่ผมเห็นเป็นประจำคือ ท่านมั่วแหลกเลย แต่ด้วยท่าทางขึงขังก็สามารถสร้างความน่าเชื่อถือให้กับผู้ฟังได้
                และที่แย่ที่สุด คือ เมื่อนักศึกษาถามอะไรที่ผมไม่ทราบ ผมก็มักจะตอบว่า “ผมไม่รู้” เล่นเอาผู้ที่เชิญผมไปบรรยายถึงกับช็อกไปตามๆกัน ว่าเป็นถึงผู้บรรยายได้อย่างไรในเมื่อตอบคำถามไม่ได้
                ผมขอยกตัวอย่างรายการทางวิทยุของ อสมท. คลื่น FM 100.5 MHz ดำเนินรายการโดยอาจารย์ รวิพล สุวรรณผ่อง (รายการเกี่ยวกับยานยนต์) ครั้งหนึ่งมีสุภาพสตรีโทรมาถาม แล้วท่านอาจารย์ตอบว่า “ผมไม่ทราบ ต้องขออภัยด้วยครับ” เมื่อสุภาพสตรีท่านนั้นวางหูโทรศัพท์ลง ท่านก็ลำพึงกับผู้ร่วมรายการว่า หากไม่รู้แล้วไปแนะนำผิดๆ แล้วถ้าเกิดอุบัติเหตุขึ้นมา ท่านต้องรับผิดชอบ

                หรืออย่างรายการหมอบ้านทางวิทยุ อสมท. คลื่น FM 96.5 MHz โดยอาจารย์ยอดเยี่ยม เทพธรานนท์*** ท่านบอกว่ารายการที่ออกอากาศ ท่านไม่ได้ค่าตอบแทน และถึงจะมี ท่านก็เอาไปบริจาคให้กับการศึกษา แต่ไม่ได้หมายความว่าท่านมีสิทธิ์ที่จะไม่พูดความจริง ทุกอย่างที่ท่านพูดต้องถูกต้อง

                เดี๋ยวนี้ผมไม่รับเชิญไปบรรยายมานานกว่า 10 ปีแล้ว เพราะพบว่าหลายครั้งที่พอผมลงจากเวที นักวิชาการที่เชิญผมไปบรรยายชอบถลึงตาใส่ผม ตอนหลังผมพอจับทางได้ว่า หลายครั้งที่นักศึกษาแย้งว่าทำไมไม่ทำอย่างโน้น หรือแย้งว่าน่าจะเป็นอย่างนี้มากกว่า แล้วผมอธิบายว่าสิ่งที่นักศึกษาแย้งมาผิดตรงไหน

                คงจะเป็นเพราะสิ่งที่นักศึกษาถามได้รับการสอนมาจากอาจารย์แบบนั้น แล้วผมไปฉีกหน้าพวกเขาโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ในขณะที่ผมเป็นพ่อค้า ไม่ควรมีปัญหากับนักวิชาการ ผมเลยต้องปฏิเสธที่จะเป็นผู้บรรยายอีก

                มาบัดนี้สถาบันการศึกษาที่เคยสอนวิชาโสตทัศเพื่อการศึกษาเลิกสอนวิชานี้กันหมดแล้ว มีหลายท่านบอกว่า หมดยุคแล้ว การศึกษาไม่ใช้วิธีการสื่อสาร มีแค่ประเทศล้าหลังอย่างจีน เวียดนาม และไทยเท่านั้น ที่ยังดักดานใช้โสตทัศนูปกรณ์กันอยู่ ดังนั้นสิ่งที่ผมพอจะทำได้ขณะนี้ก็คือ เขียนเป็นบทความที่ AVComm แทน

                ทีนี้มาเข้าเรื่องกันได้แล้วครับ ในยุคแรกๆ ก่อนจะมีการกระจายภาพ (broadcast) โทรทัศน์ พวกเขาได้พบว่าหากออกแบบเครื่องรับโทรทัศน์ให้เป็นไปตามความต้องการ ราคาเครื่องรับโทรทัศน์จะแพงหูฉี่ ด้วยราคาของแบนด์วิธ (band width) ที่ยิ่งเร็วเท่าไหร่ ก็จะแพงขึ้นเท่านั้น แม้กระทั่งเดี๋ยวนี้บรอดแบนด์ก็ยังเป็นของราคาสูงอยู่
หากพวกเขาลดความเร็วของแบนด์วิธลงครึ่งหนึ่ง เพื่อให้ราคาเครื่องรับโทรทัศน์ถูกลงจนคนส่วนใหญ่สามารถซื้อมาดูได้ แต่ภาพที่สแกนได้จะเหลือเพียงครึ่งบนของภาพเท่านั้น

                เมื่อมีการศึกษาพฤติกรรมของผู้ชม พวกเขาพบว่าผู้ชมจะนั่งห่างจากจอรับโทรทัศน์ค่อนข้างไกล และขนาดจอภาพเครื่องรับโทรทัศน์ก็คงอยู่ในช่วง 14” หากแสดงภาพแบบเส้นเว้นเส้นก็จะสามารถยืดภาพให้เห็นได้เต็มจอ การทำแบบนี้ทำให้ภาพค่อนข้างหยาบ แต่ด้วยเหตุผลที่ได้อธิบายไว้แต่แรกแล้วว่า ผู้ดูนั่งอยู่ไกลและจอฯมีขนาดเล็กจึงไม่มีปัญหาเรื่องความหยาบ

                วิธีที่เขาทำคือ ครั้งแรกเขาจะสแกนภาพเฉพาะเส้นคี่ คือ เส้นที่1 แล้วเว้นเส้นที่2 โดยปล่อยให้มืด จากนั้นก็กระโดดไปสแกนเส้นที่3 แล้วเว้นเส้นที่4 ให้มืด แล้วไปสแกนเส้นที่5 ทำซ้ำไปเรื่อยๆ จนเต็มจอภาพ การสแกนภาพจนเต็มจอแบบนี้ เรียกว่า 1 ฟิลด์ (field)





ภาพที่ 1 ภาพจริงที่ยังไม่ถูกถ่ายเป็นวิดีโอ

                    โดยฟิลด์แรกประกอบด้วยเส้นคี่ ส่วนในฟิลด์ที่สอง ประกอบเฉพาะเส้นคู่ นั่นคือเว้นเส้นแรกให้มืด แล้วจึงสแกนภาพเส้นที่2 แล้วเว้นภาพเส้นที่3 ให้มืด แล้วสแกนเส้นที่4 ทำอย่างนี้ไปจนเต็มภาพ ถือเป็นฟิลด์ที่2 ที่แสดงเฉพาะภาพเส้นคู่  รวม 2 ฟิลด์เป็น 1 เฟรม การทำแบบนี้เรียกว่า interlace



ภาพที่ 2 ฟิวด์ที่ 1 ที่แสดงเฉพาะเส้นคี่ ส่วนเส้นคู่จะว่างเปล่าเป็นสีดำ

ภาพที่ 3 ฟิลด์ที่2 ที่แสดงเฉพาะเส้นคู่ ส่วนเส้นคี่จะกลับว่างเป็นสีดำ

***จำนวนเส้นและขนาดของเส้น หยาบกว่าความเป็นจริง เพื่อผู้อ่านจะได้เห็น เข้าใจ Interlace

                 อย่างที่เราเคยเรียนวิทยาศาสตร์ในชั้นมัธยมต้น ภาพที่เราเห็นแวบหนึ่ง ภาพนั้นจะยังคงคาตาอยู่ไม่ได้หายไปในทันที แต่จะค่อยๆ เลือนหายไป (เรียกว่าภาพติดตา(Persistance of vision) คือแม้ภาพนั้นจะหายไปแล้ว แต่สมองยังคงรับรู้ภาพนั้นอยู่ชั่วครู่ เป็นความเฉื่อยของสมอง หลักการนี้โทมัส อัลวา เอดิสัน ได้นำไปประดิษฐ์เครื่องฉายภาพยนตร์ได้สำเร็จเป็นครั้งแรกของโลก)
เมื่อเราเห็นภาพในฟิลด์แรกสมองจะรับรู้ภาพของฟิลด์แรกอยู่แม้จริงๆ แล้วภาพจะหายไป ขณะที่ภาพของฟิลด์แรกกำลังจะหายไปจากสมองภาพในฟิลด์ที่2 ก็ปรากฏซ้อนเข้ามา เราจึงเห็นภาพเต็มทั้ง2ฟิลด์ (ความจริงเห็นทีละฟิลด์พร้อมกัน)

                มีเรื่องน่ารู้เกี่ยวกับความเร็วของภาพโทรทัศน์ ใน 1 ฟิลด์ เขาใช้เวลา 1 เฮอร์ส ดังนั้นใน 1 เฟรมซึ่งประกอบด้วย 2 ฟิลด์ จึงใช้เวลา 2 เฮอร์ส ในบ้านเราที่ใช้กระแสไฟฟ้าสลับ มีความเร็ว 50 เฮอร์สต่อวินาที ดังนั้น ความเร็วของภาพโทรทัศน์คือ 50÷2=25 เฟรมต่อวินาที ส่วนในประเทศสหรัฐอเมริกาเขาใช้กระแสไฟฟ้าสลับที่ความเร็ว 60 เฮอร์สต่อวินาที ดังนั้นความเร็วของภาพโทรทัศน์ที่นั่นจึงเท่ากับ 60÷2=30 เฟรมต่อวินาที
ลงเมื่อวันที่ 22 กรกฏาคม 2554
***นายยอดเยี่ยม เทพธรนนท์ อดีตนายกสมาคมสถาปนิกสยาม(27 เมษายน 2496-)เกิดที่กรุงเทพมหานคร เป็นสถาปนิกที่มีชื่อเสียงผู้หนึ่งในประเทศไทย ปัจจุบันเป็นกรรมการอำนวยการของบริษัท Inter PAC ผู้ริเร่ิมและพิธีกรปกิณกะทางโทรทัศน์รายการ "หมอบ้าน" และรายการวิทยุ "คุยกับหมอบ้าน"

 
 
  ห้างหุ้นส่วนจำกัด วีระซัพพลายส์  
  81-83 ซอย เฉลิมเขตร์ 1 ถนน เฉลิมเขตร์ แขวงวัดเทพศิรินทร์ เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กทม. 10100  
  โทร. (02) 2211424, 2231864, 2239122, 6216198-9 แฟกซ์ (02) 2249231