ความน่าสงสัยในโปรเจคเตอร์แสงเลเซอร์
  การแบ่งประเภทเครื่องฉายภาพ
  แนวโน้มโสตทัศนูปกรณ์ใน พ.ศ. 2561
  สีตอน 2
  เลนส์ซูมแท้ไม่แท้
  TV Line
  คีย์สโตน (KEYSTONE) ตอน2
  ประวัติโปรเจคเตอร์ VDO/Computer
  คีย์สโตน (KEYSTONE) ตอน1
  ตารางเปรียบเทียบLCD&DLP
  Interlace
  เลนส์ควบแสงในเครื่องฉายสไลด์
  อัตราส่วนเปรียบต่าง ตอน1
  เตรียมตัวก่อนเลือก
ซื้อโปรเจคเตอร์
  ปลั๊กสัญญาณภาพ
  เปรียบต่าง(Contrast)ตอนจบ
  โปรเจคเตอร์จอกว้าง
  Up-date ปี 2551
  โปรเจคเตอร์จิ๋ว
  ด้านหน้า/หลัง ของเลนส์
  ฉายภาพ
  เปรียบต่าง(Contrast) ตอน3
  โปรเจคเตอร์ที่มีระยะฉายสั้น
  BrighEra LCD ยุคใหม่
  ลูเมนขาว/ลูเมนสี
  เปรียบต่าง(Contrast) ตอน2
  Kell Factor
  เปรียบต่าง(Contrast) ตอน1
  ความละเอียดของ   
  วิชวลไลเซอร์
  Rainbow Color Artifact
  ปัญหา Screen Door Effect
  Rule of Sixth
  การเลือกซื้อจอภาพระบบ  
  LCD TV
 
 
 
 
   
 

เครื่องฉายภาพแผ่นใส (OHP)


 

หลังจากผมได้เขียนบทความเรื่อง “การแบ่งประเภทเครื่องฉายภาพ”
ทำให้ผมตั้งใจที่จะเขียนเรื่องเครื่องฉายภาพแผ่นใสขึ้นมาอีกครั้งให้เร็วขึ้น หลังจากได้เขียนเรื่องนี้มาแล้วหลายครั้ง แต่ผมยังไม่ได้เผยแพร่บทความนี้ที่เว็บไซต์ของวีระซัพพลายส์เลยสักครั้ง

เครื่องฉาย Overhead Projector (OHP) ซึ่งเดิมเคยมีชื่อเป็นภาษาไทยว่า เครื่องฉายภาพข้ามศีรษะ ก่อนจะเปลี่ยนชื่อมาเป็น เครื่องฉายแผ่นใส ซึ่งผมเข้าใจว่าคงมีบางท่านเห็นว่าชื่อเครื่องฉายภาพข้ามศีรษะนั้นไม่เหมาะสม ด้วยเหตุผลอะไรผมไม่ทราบ คงเพราะว่าเครื่องฉาย Overhead projector นี้ใช้ฉายภาพจากแผ่นใส ที่ฝรั่งเขาเรียกว่า Transparency  และช่วงปลายของยุคของ Overhead Projector ก็มีการเรียกอย่างดูแคลนว่า เครื่องปิ้งแผ่นใส โดยเฉพาะเมื่อเริ่มมีการใช้เครื่องฉาย video/data (คือเครื่องฉายภาพจากคอมพิวเตอร์ในปัจจุบัน และบ้างก็เรียกเป็น multi media projector

             ก่อนที่ผมจะเขียนบทความเรื่อง Overhead projector ผมได้เข้าไปดูบทความเกี่ยวกับเรื่องนี้ ใน Wikipedia ที่เขียนขึ้นโดยฝรั่งที่ผมเข้าใจว่า เขาคงแค่คุ้นเคยกับการใช้งานแต่รู้ไม่จริง เรื่องจึงเลอะเทอะพอสมควร ซึ่งภายหลังบทความนี้ก็ได้หายไปจาก Wikipedia ซึ่งผมเดาว่าคงมีคนอื่นๆเห็นว่าเป็นบทความที่เลอะเทอะ

        เผอิญผมได้ไปอ่านบทความ เกี่ยวกับการแบ่งประเภทของเครื่องฉายภาพบนอินเตอร์เน็ต ที่หลายๆคนเขียนเหมือนๆกัน ที่เขาแบ่งเป็น

  1. ระบบฉายตรง (direct projection)
  2. ระบบฉายอ้อม (indirect projection)
  3. ระบบฉายสะท้อน (reflected projection)

แต่ไม่มีผู้ใดเลยที่จะอธิบายอะไรให้มากไปกว่าแค่หัวข้อ แถมยังไม่มีภาพประกอบ ซึ่งผมว่าเป็นถึงนักวิชาการด้านโสตทัศนศึกษา แต่ไม่เห็นประโยชน์ของการใช้ภาพช่วยอธิบายบทความ มันน่าละอายจริงๆ

        ผมจึงเข้าใจว่า ในระบบฉายอ้อมและระบบฉายสะท้อน ที่พวกเขาแบ่งประเภทเครื่องฉายนั้น น่าจะหมายถึงเครื่องฉาย overhead projector เพราะเป็นเครื่องฉายภาพชนิดเดียวที่มีการสะท้อนแสง แต่ในมุมมองของผม ผมว่าการสะท้อนแสงเพียงแค่นี้ไม่น่าจะถือว่าถึงขั้นแบ่งเป็นเครื่องฉายภาพอีกประเภทหนึ่ง แต่จะเป็นเครื่องฉายภาพจากแผ่นใสเหมือนๆกัน เช่น เครื่องฉายสไลด์ เครื่องฉายภาพยนต์ ผมเลยกลับมาเขียนเรื่องนี้อีกครั้ง

        เช่นเดียวกับครั้งก่อนๆ ผมได้ไปดูเรื่อง overhead projector ใน Wikipedia ครั้งนี้ผมได้พบบทความที่เขียนเป็นภาษาปะกิด (ซึ่งนำคำนี้มาจากการสัมภาสผู้มาสมัครงาน ที่เขาเรียนจบปริญญาตรี แล้วเขาเรียกอย่างนี้) และยังมีภาคภาษาไทย ผมเลยเข้าไปอ่านภาคภาษาไทยก่อน

        แต่โอ้โฮ้ เขาเขียนแย่จริงๆ ตลอดบทความอันสั้น เขาอธิบายว่าเครื่องฉาย overhead projector ใช้วิธีสะท้อนแสงไปสะท้อนแสงมาจนเกิดเป็นภาพ ไม่ทราบว่าเป็นความผิดพลาดจากภาษาเขียน หรือเป็นเพราะเขาไม่รู้จริงๆ เขายังอ้างว่า overhead projector นี้ผลิตขึ้นครั้งแรกใน ค.ศ. 1970 แต่เมื่อผมเข้ามาทำธุรกิจใน ค.ศ. 1968 ก็ได้มีเครื่องฉาย overhead projector อยู่แล้ว ซึ่งก็ก่อน ค.ศ 1970 ถึง 2 ปี
ที่เหลือเขาเขียนได้แย่มากๆ ไม่ต่างอะไรไปจากตาบอดคลำช้าง (ปกติผมใช้นามปากกาว่าตาถั่วคลำช้าง เพราะคิดว่าตนเองยังไม่ถึงขั้นผู้เชี่ยวชาญจริงๆ แต่ตาถั่วก็ถือว่ายังดีกว่าพวกตาบอดคลำช้าง เลยใช้ชื่อนามปากกาว่า “ตาถั่วคลำช้าง”)
ส่วน Wikipedia ภาคภาษาปะกิด (อังกฤษ) แม้จะดีกว่าบทความเดิมก็จริง แต่ยังมีข้อบกพร่องอยู่ประปราย อย่างเช่นเขาบอกว่า เครื่องฉาย Overhead Projector ได้ผลิตขึ้นครั้งแรกในคริสตศักราชที่ 16 ก็มี ผลิตขึ้นครั้งแรกในคริสตศักราชที่ 17 ก็มี ในสมัยส่งครามโลกครั้งที่ 2 ก็ยังมี ผมเข้าใจว่าคงมีหลายคนเข้าไปแก้ไขเพิ่มเติมจนเลอะเทอะ สำหรับผมนั้นผมเริ่มจำหน่าย Overhead Projector ก็เมื่อ พ.ศ. 2511 นั้นก็ 50 ปีพอดี

        แต่เท่าที่ผมเคยอ่าน เครื่องฉายภาพโปร่งใสถูกผลิตขึ้นในสมัยสงครามเกาหลี ตอนนั้นกองทัพสหรัฐฯ ไม่มีการเกณฑ์ทหาร แต่เป็นทหารอาสาสมัคร ดังนั้นผู้ที่อาสาไปรบในสงครามเกาหลี จึงไม่มีประสบการณ์มาก่อน และเขาต้องได้รับการฝึกและอบรมอย่างเข้มค้นในระยะเวลาอันสั้น จึงได้ให้ใครไปคิดหาอุปกรณ์ที่จะช่วยให้การอบรมให้มีความกระชับมากขึ้น ดังนั้นเครื่องฉายแผ่นใสจึงถือกำเนิดขึ้น
แม้ข้อมูลนี้ของผมจะไปขัดกับบทความของผู้อื่น แต่เมื่อคำนวณเวลาแล้วของผมน่าจะถูกต้องกว่า แต่ก็อย่ารีบเชื่อผมทันที ควรวิเคราะห์ให้ดีก่อน

        ผมขอออกนอกเรื่องนิดหน่อย ตอนที่ผมอายุประมาณ 10 ขวบ ผมชอบไปคุ้ยกองนิตยสารต่างประเทศ ที่คุณพ่อของผมเป็นสมาชิกมากมาย และในหน้า classify ads. (โฆษณาย่อย) ผมได้เห็นโฆษณารูปชายในชุดกลาสีเรือสีขาวสะพายถุงทะเล ที่ดูเหมือนรูปชาวประมงแบกปลา cod ในขวดน้ำมันตับปลา แล้วเขียนว่า “Join the nary see the world” ซึ่งมีอยู่ในหลายๆนิตยสาร
เมื่อผมถามคุณพ่อของผมเรื่องนี้ ท่านอธิบายว่าประเทศสหรัฐอเมริกาไม่มีทหารเกณฑ์ แต่เป็นทหารอาสาสมัคร เขาจึงต้องโฆษณาเชื้อเชิญให้ชาวอเมริกามาสมัครเป็นทหารอาสา

รูปนี้ผมได้มาจาก Google ซึ่งไม่เหมือนกับรูปที่ผมเคยเห็นมาตอนอายุ 10 ปีซักทีเดียว ที่เขาชวนให้คนไปสมัครเป็นทหารเรือ แล้วจะได้ท่องโลก

        เครื่องฉายแผ่นใสรุ่นแรกๆที่ผมได้เห็น ตอนนั้นเขาใช้หลอดฉายทังสเตน 220 โวลต์ 1000 วัตถ์ อยู่ในตำแหน่งตั้งตรง มีจานสะท้อนแสงอยู่ด้านหลัง ทำให้แสงสะท้อนไปยังทิศทางตรงกันข้ามกับจานสะท้อนแสง แล้วผ่านเลนส์ควบแน่นตัวที่หนึ่ง แล้วจึงผ่านกระจกกรองความร้อน ที่จงใจทำให้แตกครึ่ง ซึ่งผู้รู้ในสมัยที่ 60 ปีที่แล้วอธิบายให้ผมฟังว่า หากไม่ทำให้แตกครึ่งแบบนี้ เพราะความร้อนจะทำให้กระจกนี้แตกเสียเอง หากแตกเพราะความร้อนจะทำให้เกิดเศษกระจกแตกกระจายเป็นชิ้นๆไปทั่ว เมื่อแสงผ่านกระจกกรองความร้อนแล้ว จะไปเจอกระจกเงาที่ตั้งมุมสะท้อนลำแสงประมาณ 45 องศา เพื่อสะท้อนแสงขึ้นด้านบน


ไดอะแกรมของเครื่องฉายแผ่นใส ที่แสดงถึงอุปกรณ์ต่างๆ รวมทั้งทางเดินของแสง ที่มีการสะท้อนใต้แท่นฉาย และสะท้อนแสงภายในหัวเลนส์ฉาย

        ตอนนั้นผมสงสัยมากว่าทำไมเขาจึงไม่ติดตั้งหลอดฉายในแนวนอนให้อยู่ใต้แท่นฉาย จะได้ตัดส่วนที่เป็นตัวถังคลุมหลอดฉาย และพัดลมระบายความร้อนที่ยื่นออกไปด้านข้างของแท่นฉาย ซึ่งจะทำให้ตัวถังมีขนาดเล็กลงและเบาลง รวมทั้งไม่ต้องมีกระจกสะท้อนแสงอยู่ใต้แท่นวางแผ่นใส

        แต่เมื่อผมไปดูสเปคฯหลอดฉาย เขาบอกว่า หลอดฉายต้องอยู่ในมุมตั้ง ± 45 องศาจากแนวตั้ง ผมจึงสงสัยว่า หากเอนมากกว่านั้น จะทำให้คั่วหลอดยกสูงขึ้น ซึ่งจะทำให้ความร้อนไปทำให้อากาศจากภายนอกไหลเข้าไปภายในหลอดฉาย ทำให้เกิดการสันดาบ คงเป็นเพราะเหตุนี้ หลอดฉายจึงต้องตั้งตรง

        สำหรับกระจกสะท้อนแสงแผ่นนี้ จะใช้กระจกเงาส่องหน้าธรรมดาก็ได้ เพราะมีความทนทานและราคาถูก และเมื่อแสงสะท้อนขึ้นบน ก็จะเจอกับเลนส์ฟรีเนล ใครที่ได้อ่านบทความเรื่องเลนส์ฟรีเนลแล้ว จะรู้ว่ามันก็คืออีกรูปแบบหนึ่งของเลนส์นูน และเลนส์ฟรีเนลในเครื่องฉายแผ่นใสนี้ก็เหมือนเลนส์นูนตัวที่ 2 ของเครื่องฉายสไลด์ ที่อยู่ชิดกับแผ่นสไลด์ แต่ในกรณีของเครื่องฉายแผ่นใส เลนส์ฟรีเนลจะอยู่ชิดกับกระจกแท่นฉาย ที่ทำหน้าที่รองรับแผ่นใส

        ที่ผมมาเน้นเรื่องนี้ก็เพราะ เลนส์นู้นเป็นเลนส์ที่หักเหแสงให้มารวมกันที่จุดโฟกัส ดังนั้นฝรั่งจึงเรียกเลนส์นูนว่า Condensing Lens หรือสรุปง่ายๆว่าเลนส์คอนเดนเซอร์ (เลนส์ควบแน่นในภาษาไทย)
แต่ในเครื่องขยายรูป เลนส์นูน 2 ตัวนี้จะบรรจุอยู่ในกระบอก ซึ่งคนไทยจะเรียกทับศัพท์ว่าเลนส์คอนเดนเซอร์ แต่ก็ยังมีคนไทยอีกหลายๆคนเรียกตามๆกันเป็นภาษาไทยว่าเลนส์เกลี่ยแสง ด้วยเหตุที่หากเอาเลนส์คอนเดนเซอร์ออก แสงจากหลอดขยายรูปจะสะท้อนไปสะท้อนมาภายในตัวโคม แสงที่ฉายออกมาจึงจางบางส่วน แต่บางแห่งจะสว่างจ้าเป็นรูปวงแหวนสว่างที่โน้นบ้างที่นี้บ้าง คนไทยเลยเรียกว่าเป็นเลนส์เกลี่ยแสง เมื่อผมพยายามอธิบายเท่าไหร่ก็ไม่มีใครยอมฟัง เอาแต่ด่าว่าผมว่าพูดเลอะเทอะ

        คนไทยไม่นิยมเรียนแบบเข้าใจเหตุผล ชอบแต่วิธีท่องจำ ด้วยการจำอะไรที่มีคนสอนกันมาเป็นทอดๆแบบท่องจำ หรือตามที่เขาเห็นด้วยตาแต่ไม่ยอมฟังเรื่องทฤษฎี

        วันหนึ่งผมไปที่ศูนย์บริการโสตทัศนูปกรณ์ของภาควิชาเทคโนโลยีการศึกษา คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ที่ซอยประสานมิตร (สุขุมวิท 23) ที่ล็อบบี้เขามีเครื่องฉายภาพรุ่นโบราณต่างๆโชว์ เช่น เครื่องฉายภาพยนตร์ขนาด 16 มม. ยี่ห้อ Ampro ซึ่งผมไม่เคยทราบว่าเขาก็ได้เคยผลิตเครื่องฉายภาพยนตร์ขนาด 16 มม. มาก่อน ทราบแต่ว่า Ampro เป็นผู้ประดิษฐ์เครื่องฉายวิดีโอ/เดต้า ที่ใช้เทคโนโลยี CRT เป็นรายแรกของโลก
และที่นี้ก็มีเครื่องฉายภาพแผ่นใสขนาดจิ๋ว ที่ขนาดของแท่นฉายน่าจะมีขนาด 5”x 5” เท่านั้นเอง ผมก็สงสัยว่าทำไมเขาถึงผลิตเครื่องฉายแผ่นใสให้มีขนาดเล็กจิ๋วขนาดนั้น เวลาเขียนต้นฉบับบนแผ่นใส ก็น่าจะลำบากแย่

        แต่พอผมชะโงกหน้าแล้วก้มลงดูไปที่แท่นฉาย ผมก็ประหลาดใจ เพราะใต้แท่นฉายเป็นเลนส์นูนไม่ใช่เลนส์ฟรีเนลอย่างที่ผมคุ้นเคย ผมถึงรู้ว่าทำไมเขาถึงทำเครื่องฉายภาพแผ่นใสให้มีขนาดเล็กอย่างนั้น เพราะเลนส์นูนขนาดประมาณเส้นผ่านศูนย์กลาง 10 นิ้ว นั้น มันทั้งหนักทั้งหนา ถ้าถูกความร้อนจากหลอดฉายกำลังสูงถึง 1,000 วัตต์ละก็ มีสิทธิ์แตกง่ายๆ อันเนื่องจากการขยายตัวของเนื้อแก้ว  ที่ขยายตัวไม่เท่ากันทั้งก้อน เพราะที่ขอบเลนส์จะหนาน้อยกว่ากลางเลนส์มาก และทำให้ผมเข้าใจเลยว่า ทำไมเครื่องฉายแผ่นใสรุ่นหลังๆ ถึงต้องใช้เลนส์ฟรีเนล เพราะจะทำให้เลนส์บางลงมากๆ การขยายตัวของเลนส์ก็จะเท่าๆกันทั้งแผ่นทำให้ไม่แตก สามารถทำในขนาดใหญ่ได้ น้ำหนักก็เบาและราคาไม่สูงมากเกินไป

        เพื่อเป็นการปูทางให้ผู้อ่านเข้าใจว่าเลนส์ฟรีเนลนั้นทำงานอย่างไร ผมจึงเขียนบทความเรื่องเลนส์ฟรีเนล เพื่อเป็นการปูทางก่อนจะเขียนเรื่องเครื่องฉายภาพแผ่นใส เพื่อให้ผู้อ่านรู้ว่าเลนส์ฟรีเนลทำหน้าที่อะไรและทำงานอย่างไร ซึ่งบทความที่ผมเขียนนี้ **อ่านบทความคลิก** ผมได้พยายามค้นหาทาง Google แต่ไม่มีใครอธิบายว่าเลนส์ฟรีเนลทำงานได้อย่างไรเลย แม้แต่บทความเดียว แต่ก็ยังโดนผู้ที่ได้ชื่อว่าเชี่ยวชาญด้านโสตทัศนูปกรณ์มากที่สุดของประเทศไทยมากคนหนึ่ง ตำหนิว่าเป็นบทความที่เลอะเทอะ ไม่มีอะไรเป็นความจริงอยู่เลย

        จากประสบการณ์ของผม ผู้ที่วางตำแหน่งตนเองเป็นผู้เชียวชาญในสาขาใดสาขาหนึ่ง จะไม่ยอมรับว่าสิ่งที่ตัวเองบรรยายนั้นผิด และหากเผอิญไปเจอคนที่รู้จริงแล้วแย้งกับพวกเขา พวกเขาจะไม่ยอมรับความผิดพลาด แต่จะรีบปฏิเสธข้อโต้แย้งของผู้อื่นชนิดเอาเป็นเอาตาย คล้ายๆกับว่าพวกเขาจะผิดไม่ได้เลย แม้ว่าในใจของเขาจะรู้ว่าสิ่งที่เขาโต้แย้งอย่างเอาเป็นเอาตายนั้น แท้จริงแล้วเขาไม่มีความรู้เลย มันทำให้ผมรู้สึกว่า หากเขาต้องยอมรับสิ่งที่เขาสอนไปนั้นไม่ถูกต้อง มันจะทำลายความสัทธาของผู้ฟัง ซึ่งต่างจากผมหากใครมาแย้งว่าสิ่งที่ผมบรรยายนั้นผิด ผมจะดีใจมากเพราะจะทำให้ผมรู้ความจริง ในความรู้สึกของผม ผมจะรู้สึกเป็นบาปหากผมไปสอนอะไรที่ผิด และยิ่งเป็นบาปหนักขึ้นไปอีกหากรู้ทั้งรู้ว่าสิ่งที่บรรยายนั้นผิด แล้วยังตะบี้ตะบันสอน

        เมื่อแสงผ่านเลนส์ฟรีเนล เลนส์ฟรีเนลจะบีบแสงทั้งหมดที่ผ่านแผ่นใสให้รวมตัวกันเล็กลง จนลำแสงทั้งหมดผ่านเลนส์ฉาย ดังนั้นแสงที่ผ่านแผ่นใสมาแล้วจึงถือเป็น optical light path ที่มีภาพ ไม่เหมือนแสงที่มาจากหลอดฉาย จนถึงแผ่นใสที่เป็นเพียงแสงสว่างไม่มีภาพ ดังนั้นแสงที่เป็น optical light path จึงต้องระมัดระวังไม่ให้มีอะไรไปกระทบต่อคุณภาพของภาพ

        ที่มุมหนึ่งของแท่นวางแผ่นใสจะมีเสาสูงที่แข็งแรง และที่เสานี้จะมีก้านยื่นออกไปเพื่อยึดเลนส์ฉาย ให้อยู่ในตำแหน่งกึ่งกลางเหนือแท่นฉาย ในระยะห่างจากแท่นฉายให้เหมาะกับการปรับโฟกัส ซึ่งตำแหน่งที่วางเครื่องฉายโอเวอร์เฮดจะอยู่หน้าครูสอน ซึ่งจะอยู่ไม่ไกลจากจอภาพฉาย จึงทำให้การปรับโฟกัสของเลนส์นี้อยู่ในระยะที่เรียกว่าใกล้จอภาพฉายมาก ดังนั้นเลนส์ฉายจึงอยู่ห่างจากแท่นฉายค่อนข้างมาก เมื่อเทียบกับเครื่องฉายสไลด์ เครื่องฉายภาพยนตร์ ฯลฯ ที่ตั้งห่างจากจอพอสมควร หากผมมีเวลาว่างที่จะเขียนก่อนที่ผมจะแก่เกินไป ผมก็อยากเขียนถึงการกำหนดทางยาวโฟกัสของเลนส์ฉายภาพ โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับเลนส์ฉายภาพนิ่งและภาพยนต์


ที่เลนส์ฉายภาพนี้มีการออกแบบการใช้กระจกเงา เพื่อสะท้อนลำแสงให้อยู่ในแนวราบอยู่ 3 วิธี

1. วิธีแรกเราจะมีกระจกสะท้อนแสง ที่ยึดติดกับก้านสำหรับยึดเลนส์ ในมุมประมาณ 45 องศากับแท่นฉาย เพื่อสะท้อนแสงให้เกือบขนานกับระนาบแท่นฉายไปยังจอภาพฉาย และแสงนี้จะผ่านเลนส์ฉาย ซึ่งอยู่ขนานกับระนาบของแท่นฉายเหมือนกัน ดังนั้นการโฟกัสเลนส์ฉายจะเคลื่อนไปหน้าหลัง ขนานกับระนาบแท่นฉาย ดังนั้นภาพที่ฉายระหว่างการโฟกัสจึงสูงในระดับเกือบเท่าเดิม


2. วิธีที่สองเลนส์ฉายจะตั้งฉากกับแท่นฉาย และที่ปลายของเลนส์ฉายด้านบนจะมีกระจกเงาสะท้อนแสง เพื่อปรับลำแสงให้เกือบขนานกับระนาบแทนฉายไปยังจอภาพฉาย ในการโฟกัสเลนส์ฉายจะเลื่อนเลนส์ให้ขึ้นลงไปตามเสาที่ใช้ยึดเลนส์ฉาย จึงทำให้ภาพหลังการโฟกัสอยู่ในตำแหน่งที่สูงหรือต่ำกว่าตำแหน่งเดิม


3. วิธีที่สามปัจจุบันไม่ค่อยเห็นอีกแล้ว วิธีนี้เลนส์ชิ้นที่อยู่ใกล้แท่นฉายจะอยู่ในแนวขนานกับระนาบแท่นฉาย ไม่สามารถพลิกขึ้นลงเหมือนกับเลนส์ตัวที่สอง ที่ทำมุมประมาณ 90 องศากับเลนส์ชิ้นแรก และที่ด้านในของทั้งกล่องเลนส์นี้ จะมีกระจกสะท้อนแสงทำมุมประมาณ 45 องศา ระหว่างเลนส์ตัวแรกกับเลนส์ตัวที่สอง ซึ่งกระจกสะท้อนแสงตัวนี้จะยึดติดกับเลนส์ตัวที่สอง เมื่อปรับโฟกัสหัวเลนส์จะเคลื่อนขึ้นลงไปตามเสายึดเลนส์ กระจกสะท้อนแสงนี้สามารถพลิกก้มเงยได้ เพื่อปรับตำแหน่งของภาพฉายให้ขึ้นสูงหรือลงต่ำได้


        สำหรับแผ่นกระจกที่อยู่ที่หัวเลนส์ฉายนี้ เป็นชนิดที่เรียกว่าฉาบสปรอดด้านหน้า คืออยู่ด้านหน้าของแผ่นกระจก ซึ่งต่างจากกระจกเงาที่เราใช้ไว้ส่องหน้า ที่ฉายสปรอดไว้ด้านหลังแผ่นกระจก ซึ่งการฉาบสปรอดไว้ด้านหลังนี้ ตัวแผ่นกระจกจะช่วยป้องกันผิวหน้าของปรอด ไม่ให้หลุดลอก ถูกขูดรีดหรือสกปรกได้อย่างง่ายดาย และทำให้ตัวปรอดยึดติดกับตัวแผ่นกระจกได้ดีมาก แถมยังมีราคาถูกกว่ามาก แต่สาเหตุที่ไม่ใช้กระจกเงาชนิดฉาบด้านหลังก็เพราะ กระจกเงาชนิดปรอดด้านหลังจะทำให้เกิดภาพซ้อน อย่างที่ฝรั่งเรียกว่า Ghost image




กระจกเงาที่ฉาบปรอดไว้ด้านล่างแผ่นกระจก ทำให้แสงจำนวนเล็กน้อยสะท้อนออกจากผิวกระจกด้านบน ขณะที่แสงส่วนใหญ่จะสะท้อนจากผิวปรอดที่อยู่ด้านล่างของแผ่นกระจกเงา ซึ่งแสงที่สะท้อนจากผิวปรอดนี้ อยู่คนละตำแหน่งกับแสงที่สะท้อนจากผิวกระจกด้านบน ทำให้เห็นเป็นเงาจางๆซ้อนอยู่กับภาพจากผิวปรอดด้านล่าง อย่างที่ฝรั่งเรียกว่า Ghost image

 


กระจกเงาที่ฉาบปรอดไว้ด้านบนของแผ่นกระจก จะสะท้อนแสงที่ส่องลงมาทั้งหมดกลับไป ทำให้ไม่เกิดภาพซ้อน

        วิธีที่จะพิสูจน์ว่ากระจกเงานั้นเป็นกระจกเงาชนิดฉายปรอดไว้ด้านหน้า หรือด้านหลัง เขาจะใช้ดินสอดำที่ไม่แข็ง จี้ลงไปบนผิวกระจกเงา หากเป็นกระจกเงาที่ฉาบปรอดไว้ด้านหน้า ปลายดินสอและภาพสะท้อนจะแตะกัน แต่ถ้าเป็นกระจกเงาชนิดที่ฉาบปรอดไว้ด้านหลัง ปลายดินสอจะอยู่ห่างจากภาพสะท้อนเท่ากับ 2 เท่าของความหนาของกระจก

       


เมื่อเอาดินสอแตะที่ผิวกระจกเงาชนิดฉายปรอดไว้ด้าน
หน้าภาพสะท้อนจะเห็นว่า ปลายดินสอตัวจริงกับภาพ
ดินสอที่สะท้อนจะแตะกัน ทั้งนี้เพราะปลายดินสอแตะ
อยู่ที่หน้าปรอด


เมื่อเอาดินสอแตะที่ผิวกระจกเงาที่ฉาบปรอดไว้ด้านหลัง ภาพที่สะท้อนจะเห็นปลายดินสออยู่ห่างจากกันเป็น 2 เท่าของความหนาของกระจก เพราะปลายดินสออยู่ห่างจากผิวปรอด

มีเกร็ดเล็กๆเกี่ยวกับเรื่องนี้ ครั้งหนึ่งผมไปประเทศสิงค์โปร แล้วฝ่ายขายเครื่องฉายภาพแผ่นใสของบริษัท 3M ประจำประเทศสิงค์โปร พยายามบีบคั้นให้ผมฟังเขาอธิบายถึงวิธีพิสูจน์ว่ากระจกเงานั้นเป็นชนิดเคลือบปรอดด้านหน้าหรือด้านหลัง แต่ผมขัดขืน บอกว่าผมได้ฝึกสายตาจนสามารถพิสูจน์ได้ว่ากระจกเงานั้นเคลือบปรอดด้านหน้าหรือด้านหลัง เพียงแค่มองดูเท่านั้นก็รู้แล้ว แต่เจ้าหน้าที่ 3M ไม่ยอม จนผมต้องยอมฟังเขาอธิบาย ซึ่งก็เหมือนกับที่ผมเขียนไว้ก่อนหน้านี้ ผมคิดว่าฝ่ายขายของ 3M ที่ประเทศสิงค์โปรคงภูมิใจในความรู้ด้านนี้ และอยากจะอวดความรู้ของเขา ซึ่งก็เหมือนกับที่ผมได้อธิบายไว้

 

        ผมชอบโอ้อวดตัวเองโดยเที่ยวไปบอกใครต่อใครว่า ผมฝึกฝนจน
สามารถบอกได้ว่าแค่ใช้สายตามองก็จะรู้ว่ากระจกเงานั้นฉาบปรอดไว้ด้าน
หน้าหรือด้านหลังของแผ่นกระจก ซึ่งความจริงผมใช้วิธีสังเกตเอาเอง วิธีที่ผม
ใช้พิสูจน์ว่ากระจกเงานั้นฉาบปรอดด้านหน้าหรือด้านหลัง คือให้มองไปที่
ขอบกระจกเงา กระจกเงาที่ฉาบปรอดไว้ด้านหลังของแผ่นกระจก แล้วมองไป
ที่ตรงกลางของแผ่นกระจก จะไม่สามารถบอกได้ว่าปรอดที่ฉาบนั้นอยู่ด้าน
หน้าหรือด้านหลังของแผ่นกระจก

แต่ถ้ามองไปที่ขอบของแผ่นกระจกแสงจะทะลุแผ่นกระจกเข้าไปจนสามารถมองเห็นขอบกระจกได้ ขณะที่ปรอดที่ฉาบด้านหน้าของกระจกตัวปรอดจะบังไม่ให้แสงทะลุผ่านกระจกเข้าไป ไม่ว่าจะมองที่กลางแผ่นหรือขอบแผ่น ทำให้มองไม่เห็นขอบกระจก แต่ในกรณีที่กระจกนั้นฉาบปรอดไว้ด้านหลัง แล้วมีกรอบที่ใช้ยึดแผ่นกระจกที่อมขอบไว้เข้ามาลึกมากเกินไป จนทำให้ผมไม่สามารถมองเห็นขอบกระจกได้ ผมก็ไม่สามารถที่จะบอกได้ว่ากระจกนั้นเป็นกระจกที่ฉาบปรอดไว้ด้านหน้าหรือด้านหลัง

 
 

        ดังนั้นจึงไม่จริงตามที่ผมชอบไปคุยโออวดให้กับใครต่อใคร ว่า ผมได้ฝึกสายตามาอย่างดี จนสามารถพิสูจน์ได้ว่ากระจกเงานั้นฉาบปรอดด้านหน้าหรือด้านหลัง ซึ่งเรื่องนี้เป็นการยืนยันว่าผมไม่ใช่คนที่พูดความจริงเสมอไป ดังนั้นใครที่อ่านบทความของผมแล้ว อย่าพึ่งรีบเชื่อโดยสนิทใจทันที่ ควรวิเคราะห์ก่อนว่า คำอธิบายของผมนั้นน่าเชื่อถือได้มากน้อยแค่ไหน

        เรื่องที่ผมพูดไม่จริงอีกเรื่องหนึ่งคือ ผมได้ชื่อว่าสามารถซ่อมกล้องสำรวจได้แม่นยำที่สุดในประเทศไทย ผมเลยคุยโม้ว่าผมได้ไปฝึกงานที่โรงงาน PENTAX ในประเทศญี่ปุ่นมา ทั้งที่ความจริงแล้ว จนถึงบัดนี้ผมยังไม่เคยไปประเทศญี่ปุ่น

       เครื่องฉายแผ่นใสนี้ออกแบบมาให้ใกล้ชิดกับผู้บรรยาย ซึ่งอยู่หน้าห้องเรียน ดังนั้นระยะฉายจากเครื่องฉายไปที่จอสำหรับภาพฉาย จึงมีระยะที่สั้นมาก เลนส์ฉายจึงเป็นแบบมุมกว้าง และที่ต้องมีการหักเหแสงจากแท่นฉายให้กลับไปข้างหลัง ก็เพื่อให้ผู้บรรยายสามารถหันหน้าเข้าหาผู้เรียน ไม่ใช่หันหลังกลับไปที่กระดานดำแล้วเขียนภาพก นอกจากนั้นอาจารย์ยังสามารถชี้ไปยังแผ่นใสแล้วภาพบนจอก็จะเห็นการชี้ภาพไปด้วย

        ต่อมาในภายหลังก็ค่อยๆมีการพัฒนาเทคนิคการใช้ เช่น มีการซ้อนภาพที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า Over Lay หรือมีการบังภาพด้วยแผ่นทึบแสง แล้วค่อยๆเผยส่วนที่ต้องการจะให้ดูทีละส่วน นอกจากนั้นยังมีการทำให้ภาพเคลื่อนไหวได้ โดยการใช้ฟิวเตอร์โฟลาไลน์แผ่นหนึงทีเป็นวงกลมหมุนอยู่หน้าเลนส์ฉาย ซึ่งด้านหน้าของเลนส์ฉาย คือด้านที่หันเข้าหาแผ่นใสและที่แผ่นใสก็ยังมีแผ่นโฟลาไลนือีกแผ่นหนึง ซึ่งแต่ละชนิดสามารถให้เอฟเฟคต่างๆได้ เช่น ทำให้สว่างกับมืด ทำให้ภาพลูกล้อหมุนได้ ทำให้กระแสน้ำไหลไปทิศทางหนึง ทำให้ไอน้ำฟุ้งขึ้นไป ฯลฯ ซึ่งหน้าที่หลักของเครื่องฉายแผ่นใส ถือเป็นอุปกรณ์สนับสนุนผู้บรรยาย (Spaeket Support) ไม่ใช่งานฟรีเซนเตชั่นอย่างเครื่องฉายสไลด์หรือเครื่องฉายภาพยนต์

        ผมว่าผมเขียนเรื่องเครื่องฉายแผ่นใสมายาวมากแล้ว แต่ก็เขียนได้เพียงครึ่งเดียว และเริ่มรู้สึกเบื่อแล้ว จึงขอจบแค่นี้ก่อน แล้วผมจะเขียนตอน 2 เป็นการเล่าเรื่องการพัฒนาของเครื่องฉายแผ่นใสก่อนจะหมดยุคของมัน

 

 

 

นายตาถั่ว  คลำช้าง
(6 /01 /64)

 


 
 
  ห้างหุ้นส่วนจำกัด วีระซัพพลายส์  
  81-83 ซอย เฉลิมเขตร์ 1 ถนน เฉลิมเขตร์ แขวงวัดเทพศิรินทร์ เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กทม. 10100  
  โทร. (02) 2211424, 2231864, 2239122, 6216198-9 แฟกซ์ (02) 2249231