ความน่าสงสัยในโปรเจคเตอร์แสงเลเซอร์
  การแบ่งประเภทเครื่องฉายภาพ
  แนวโน้มโสตทัศนูปกรณ์ใน พ.ศ. 2561
  สีตอน 2
  เลนส์ซูมแท้ไม่แท้
  TV Line
  คีย์สโตน (KEYSTONE) ตอน2
  ประวัติโปรเจคเตอร์ VDO/Computer
  คีย์สโตน (KEYSTONE) ตอน1
  ตารางเปรียบเทียบLCD&DLP
  Interlace
  เลนส์ควบแสงในเครื่องฉายสไลด์
  อัตราส่วนเปรียบต่าง ตอน1
  เตรียมตัวก่อนเลือก
ซื้อโปรเจคเตอร์
  ปลั๊กสัญญาณภาพ
  เปรียบต่าง(Contrast)ตอนจบ
  โปรเจคเตอร์จอกว้าง
  Up-date ปี 2551
  โปรเจคเตอร์จิ๋ว
  ด้านหน้า/หลัง ของเลนส์
  ฉายภาพ
  เปรียบต่าง(Contrast) ตอน3
  โปรเจคเตอร์ที่มีระยะฉายสั้น
  BrighEra LCD ยุคใหม่
  ลูเมนขาว/ลูเมนสี
  เปรียบต่าง(Contrast) ตอน2
  Kell Factor
  เปรียบต่าง(Contrast) ตอน1
  ความละเอียดของ   
  วิชวลไลเซอร์
  Rainbow Color Artifact
  ปัญหา Screen Door Effect
  Rule of Sixth
  การเลือกซื้อจอภาพระบบ  
  LCD TV
 
 
 
 
   
 
     
 
ประวัติโปรเจคเตอร์ VDO/Computer


คืนหนึ่งกลางอุทยานแห่งชาติ คณะลูกเสือได้ตั้งแคมป์รอบกองไฟขึ้น แคมป์นี้ตั้งอยู่ในบริเวณที่ไม่มีไฟฟ้าใช้ ลูกเสือทุกคนจึงได้ใช้วิชาดำรงชีพในป่าอย่างเต็มที่ แต่ฉับพลันครูชายคนหนึ่งที่เป็นลูกเสือสามัญก็ถือเครื่องอะไรบางอย่างเล็กในมือข้างขวา ส่วนมือข้างซ้ายก็ถือจอขาตั้ง ครูชายคนนั้นกางจอไว้ที่มุมหนึ่งและวางวัตถุในมือไว้บนตอไม้ ไม่นานก็มีแสงเรืองรองออกมาจากวัตถุดังกล่าว และภาพกิจกรรมของเหล่าลูกเสือก็ฉายขึ้นไปบนจอในคืนที่ไร้ไฟฟ้า

 

 

วัตถุที่ครูชายถือไปวางไว้บนตอไม้ก็คือ e - Projectorที่ใช้เทคโนโลยี LED ใช้แบตเตอร์รี่ไม่ง้อไฟฟ้า ฉายภาพได้ใหญ่ถึง 200 นิ้วในขนาดที่สามารถวางไว้บนอุ้งมือเดียวได้


           


           เจ้าเครื่อง e-Projector นี้คนทั่วไปเรียกกันว่าโปรเจคเตอร์ ที่แปลว่าเครื่องฉาย แต่เครื่องฉายสไลด์ก็เรียกว่าสไลด์โปรเจคเตอร์ เครื่องฉายภาพข้ามศีรษะก็เรียก โอเวอร์เฮดโปรเจคเตอร์ ฝรั่งจึงเรียกว่า e – Projector e อันเป็นตัวย่อของ electronic Projector นั่นเอง เพราะใช่อิเล็กทรอนิกในการสร้างภาพ

            เชื่อหรือไม่ว่า เจ้าเครื่อง e Projector มีประวัติย้อนหลังไปยาวนานกว่า 70 ปีมาแล้วแถมยังมีส่วนในเรื่องอวกาศอีกด้วย เมื่อปี ค.ศ. 1937 บริษัท RCA ของอเมริกา(Radio Corporation of America :ผู้ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้า เช่นโทรทัศน์,วิทยุ) ได้นำเสนอนวัตกรรมใหม่ล่าสุดในขณะนั้น ในงานประชุมครั้งที่ 25 ของ IRE


ภาพที่ 1เครื่องฉายภาพแบบอิเล็กทรอนิกเครื่องแรกของโลก ประดิษฐ์โดยบริษัท RCA



ภาพที่2 ดร.ลอว์กับภาพที่ฉายจากเครื่องฉายภาพอิเล็กทรอนิกของ RCA สังเกตเงาหน้าของ ดร.ลอว์ที่ปรากฏบนจอรับภาพ

            ซึ่งก็ได้สร้างความฮือฮาพอสมควรเพราะเป็นครั้งแรกที่ภาพไม่ได้ถูกฉายมาจากวัตถุโดยตรง(เช่นโอเปกโปรเจคเตอร์) หรือฉายมาจากแผ่นฟิล์ม (ภาพยนต์,ฟิล์มสไลด์, แผ่นใส) แต่เครื่องของ RCA ยังเป็นเพียงเครื่องต้นแบบเท่านั้น และมีขนาดที่ใหญ่โตมากทีเดียว จากนั้นโลกก็เข้าสู่สงครามโลกครั้งที่สองทำให้ อิเล็กทรอนิกโปรเจคเตอร์ก็ต้องหยุดชะงักไป

            เมื่อสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สอง อุตสาหกรรมภาพยนต์กำลังถูกสั่นคลอนจากการปรากฏกายของประดิษฐ์กรรมใหม่ในสมัยนั้นนั่นคือทีวี  สมัยก่อนผู้คนต้องแต่งตัวออกจากบ้านเพื่อไปชมภาพยนต์ และไปชมภาพยนต์ข่าว แต่ทีวีคือสื่อบันเทิงแบบใหม่ที่ส่งตรงเข้าถึงบ้าน ทำให้ความนิยมในการตีตั๋วเข้าโรงภาพยนต์ลดน้อยลง ส่งผลต่อรายได้ทั้งของเจ้าของโรงหนังและผู้ผลิตหนัง สองบริษัทผลิตภาพยนต์ยักษ์ใหญ่ในฮอลลีวูด ได้แก่พาราเมาส์พิกเจอร์ และทเวนตี้ เซนจูรี่ฟ๊อกซ์ ได้มีนโยบายที่จะนำการเผยแพร่ภาพทางโทรทัศน์มาฉายในโรงภาพยนต์ ภายใต้คอนเซ็ป “โรงภาพยนต์โทรทัศน์” ในครั้งนั้นได้มีบริษัทหนึ่งในประเทศประเทศสวิสเซอร์แลนด์ คือบริษัท ไอเดอฟอร์ (Eidophor ) ขานรับนโยบายจากฮอลลี่วูด และได้นำเสนอเครื่องฉายภาพอิเล็กทรอนิกต้นแบบของตนเองขึ้นในปี ค.ศ 1943 โดยใช้เทคโนโลยีใหม่ล่าสุด คือเทคโนโลยี วาวล์แสง (จะอธิบายต่อไป)


ภาพที่ 3เครื่องต้นแบบของ  Eidophor สำหรับฉายภาพแบบอิเล็กทรอนิก สามารถฉายภาพที่ขนาดใหญ่ เหมาะสมกับจอภาพยนต์ในโรงภาพยนต์ ด้วยเทคโนโลยีวาวล์แสง ตัวเครื่องมีขนาดใหญ่โต


ภาพที่ 4. เครื่อง ไอเดอฟอร์ รุ่น ep 6 ฉายภาพสี ความสว่าง 2500 ลูเมนส์


ภาพที่ 5เครื่องฉายภาพโปรเจคเตอร์ขาวดำของ บริษัท RCA  1948 ติดตั้งในโรงมหรสพ


            ไอเดอฟอร์ได้พัฒนาเครื่องต่อไปจนได้เครื่องรุ่น ep 6 ที่ให้ความสว่างสูงสุดถึง 2500 ลูเมนส์ ตอนนี้แหละที่เครื่องฉายภาพอิเล็กทรอนิกได้เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับวงการอวกาศ เนื่องด้วยในขณะนั้น นาซ่า ต้องการเครื่องฉายภาพอิเล็กทรอนิกที่สามารถฉายภาพขนาดใหญ่และมีรายละเอียดของภาพที่ดี เพื่อใช้ในห้องควบคุมการบินหรือที่เรียกวันว่าฮูสตัน ในห้องควบคุมนี้จะมีนักวิทยาศาสตร์หลายคนที่ต้องดูข้อมูลและภาพจากจอขนาดยักษ์พร้อมๆกันเพื่อควบคุมจรวด และดาวเทียม (ซึ่งหากใช้การถ่ายภาพยนต์แล้วนำฟิล์มไปล้างก่อนจะผึ่งให้แห้งแล้วนำมาฉายด้วยเครื่องฉายภาพยนต์คงไม่ทันการณ์แน่) เครื่องฉายภาพอิเล็กทรอนิกของไอเดอฟอร์ จึงได้เข้าไปผงาดอยู่ในห้องควบคุมของนาซ่า



ภาพที่ 6. นักวิทยาศาสตร์ของนาซ่ากำลังดูข้อมูลจากภาพที่ฉายโดยเครื่องฉายภาพอิเล็กทรอนิก




ภาพที่ 7. เครื่องฉายภาพอิเล็กทรอนิกของ บริษัท GE รุ่น talaria ใช้หลอด xenon arch lamp 650วัตต์ ความสว่าง 250 ลูเมนส์ คอนทราส 75:1 จัดซ้อนสีได้ดีกว่า เครื่อง Eidophor




ภาพที่ 8. เครื่องฉาย GE รุ่น talaria tubo  3lv(Light valve) 7,000 lumen


Projector 3 Gunบุกบ้าน
            หลังจากอิเล็กทรอนิกโปรเจคเตอร์ได้ถือกำเนิดอย่างภาคภูมิอยู่ในนาซ่า ก็มาถึงยุคที่สองของอิเล็กทรอนิกโปรเจคเตอร์ ซึ่งเป็นยุคที่นำเครื่องอิเล็กทรอนิกโปรเจคเตอร์มาใช้ในการภาคธุระกิจ เช่นใช้ในการประชุมสัมนา นอกจากนี้ยังใช้เพื่อความบันเทิงของเศรษฐีในยุคนั้นด้วย เทคโนโลยีที่ใช้นั้นเป็นเทคโนโลยีจากเครื่องรับโทรทัศน์ โดยการนำหลอดภาพในโทรทัศน์ขาวดำ 3 หลอดมาฉายภาพแต่ละแม่สีของแสง คือ เขียว แดง และสีน้ำเงิน บริษัทแรกที่ทำโปรเจคเตอร์แบบ 3 GUN หรือแบบ CRT คือบริษัทอเมริกันชื่อAdvent ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น Ampro  ด้วยเครื่องฉายรุ่นVideobeam 1000  (1973 ) เป็นโปรเจคเตอร์เครื่องแรกของโลกที่ใช้เทคโนโลยี 3 gun เป็นเจ้าแรก


ภาพที่ 9. เครื่องVideobeam 1000 ใช้หลอดโทรทัศน์ 3 หลอดพร้อมเลนส์ 3 อันเป็นที่มาของคำว่า 3 Gun Projector เครื่องมีขนาดใหญ่ ยุคแรกจัดเรียงหลอดแบบสามเหลี่ยม


           ต่อจากนั้นก็มีบริษัทอื่นๆทำเครื่องฉาย 3 Gun ออกมาแข่ง เช่น barco ผลิตเครื่องแรก รุ่น Barco Vision ในปี 1983 , electrohome ของแคนนาดา เริ่มผลิตรุ่นแรกคือ EDP 56 ในปี 1978 บริษัทเครื่องใช้ไฟฟ้าของญี่ปุ่นก็เริ่มทำตามบ้าง เช่น sony , panasonic , nec , mitsubishi เครื่องฉายแบบ 3Gun มีน้ำหนักมาก ปรับตั้งยาก เพราะต้อง ปรับซ้อน(convergence ) ภาพจากหลอดฉายทั้งสามสีมาซ้อนกันให้สนิท (เวลาปรับจะมีภาพตารางมาให้ต้องปรับตารางทั้งสามสีมาซ้อนกันจนกลายเป็นสีขาว เวลาที่ใช้ในการปรับประมาณครึ่งวัน) หากมีการขยับเครื่องฉายเพียงนิดเดียวสีทั้งสามก็จะเหลือมกันทันทีทำให้ต้องปรับซ้อนภาพกันใหม่ เครื่องฉายแบบ 3Gun จึงนิยมแขวนเพดานเพื่อจะได้ไม่ต้องเคลื่อนย้าย  เครื่องฉายแบบ 3 Gun รุ่นต่อๆมามีการจัดเรียงหลอดฉายแบบแถว และยังมีการใช้ปริซึมในการรวมแสงให้เหลือเลนส์เดียวอีกด้วยเพื่อแก้ปัญหาเวลาขยับย้ายเครื่องจะได้ปรับได้ง่ายขึ้น



ภาพที่10 เครื่องฉายภาพอิเล็กทรอนิกโปรเจคเตอร์ แบบ 3 gun ของ sony

 

เข้าสู่ยุคดิจิตอล
การมาถึงของ datashow


ภาพที่ 11. เครื่องแสดงผลภาพ LCD Panel หรือ Datashow ของโกดัก


            เครื่องฉายภาพอิเล็กทรอนิกยังพัฒนาไปไม่หยุดพร้อมกับการคืบคลานเข้ามาของยุคดิจิตอล สมัยใหม่อะไรก็เป็นดิจิตอลไปหมด นาฬิกาก็เป็นดิจิตอล เครื่องคิดเลขก็เป็นดิจิตอล เครื่องฉายภาพอิเล็กทรอนิกก็เป็นดิจิตอล ด้วย เครื่องฉายภาพรุ่นใหม่นี้มีขนาดเล็กและบางมากขนาดเท่าหนังสือเล่มใหญ่ๆหน่อยเท่านั้นเอง จะเรียกว่าเครื่องฉายภาพก็ไม่เชิงเพราะมันไม่มีแหล่งกำเนิดแสงในตัวเอง สิ่งที่ว่าก็คือ LCD Panel  ซึ่งถูกพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ครั้งแรกโดยบริษัท โกดัก เจ้าแห่งฟิล์มที่เราคุ้นเคยกันนั่นเอง เครื่อง  LCD Panel ที่ว่านี้ก็คือผลึกคริสตัลเหลวที่ใช้ทำจอ LCD หรือหน้าปัดท์ของโทรศัพท์มือถือ หน้าปัดท์ของเครื่องคิดเลขที่เราคุ้นเคย โกดักเริ่มรับรู้ถึงการเข้ามาของยุคดิจิตอล จึงได้ตั้งแผนกไว้รองรับ  แผนกที่ว่าคือ Datashow (สำหรับงาน Presentation)  โกดักมีความคิดว่า ตามสถาบันการศึกษาหรือห้องประชุมไหนๆก็มีเครื่องฉายภาพข้ามศีรษะกันอยู่แล้วจึงไม่จำเป็นต้องมีแหล่งกำเนิดแสงแต่ไปใช้แหล่งกำเนิดแสงจากเครื่องฉายภาพข้ามศีรษะแทน เพราะ LCD เป็นการฉายภาพที่แยกกันระหว่างแหล่งแสงกับการสร้างภาพ ไม่เหมือนเทคโนโลยี CRT ที่ภาพและแสงอยู่รวมกัน  ลักษณะของ LCD Panel นั้นเป็นแผ่นกรอบคล้ายกรอบรูปที่ตรงกลางมีแผ่น LCD ใช้แทนแผ่นใส สะดวกต่อการพกพา เวลาใช้ก็ต่อกับคอมพิวเตอร์ และวางบนเครื่องฉายภาพข้ามศีรษะ ก็สามารถใช้งานได้อย่างง่ายดาย แถมไม่ต้องปรับ convergenceให้ยุ่งยาก
             LCD panel (Kodak เรียกว่าdatashow) รุ่นแรกมีเพียงสีเดียว (monochrome สีออกม่วงช้ำๆ) เป็นแบบ passive LCD เหมาะกับการใช้งานกับเครื่องคอมพิวเตอร์ในยุคนั้นที่เน้น TEXT ไม่สามารถแสดงผลเป็น Video ได้เพราะการ response time ต่ำ (เปลี่ยนภาพไม่ทัน) แต่ต่อมา โกดักก็ยุบแผนก Datashow  แต่ยังคงมีบริษัทอื่นผลิตเจ้าเครื่อง LCD panel อย่างต่อเนื่อง คนไทยหลายคนยังติดปากเรียก LCD Panel ว่าDatashow อยู่  ส่วนพนักงานในแผนกDatashowก็ได้ออกไปเปิดบริษัทใหม่ชื่อ Sayett โดยซื้อชื่อ Datashow ต่อจาก Kodak และพัฒนาต่อยอดออกไปอีก ก่อนจะปิดตัวลงในเวลาต่อมา LCD panel ในยุคหลังๆใช้ LCD แบบActive TFT 16.7 ล้านสี ซึ่ง Response time สูง และมีสีครบทุกเฉดสี จึงสามารถใช้ฉายภาพ Video ได้ บางรุ่นมีลำโพงมาให้ด้วย แต่ LCD แบบActive TFT มีความทึบแสงมากกว่า LCD แบบ monochrome และเครื่องฉายภาพข้ามศีรษะใช้หลอด Halogen ที่มีแสงสีเหลือง ภาพฉายออกไปจึงสีเพี้ยน ต่อมามีผู้ผลิตเครื่องฉายภาพข้ามศีรษะที่ใช้หลอด Metal halide ซึ่งเป็นหลอดไม่มีใส้ แสงมีสีขาวและสว่างมาก(จำพวกเดียวกับหลอด xenon ที่ใช้ในไฟหน้ารถยนต์)


            LCD Panel ยังมีการพัฒนาต่อมาอีก เนื่องจากเครื่องฉายภาพข้ามศีรษะที่ใช้ หลอด Metal halide  ต้องใช้หม้อแปลงไฟที่ใหญ่ ทำให้มีน้ำหนักมาก หากเป็นรุ่น หม้อแปลงอิเล็กทรอนิก ก็มีราคาแพง บริษัท Dukane ของอเมริกา (เดิมผลิตเครื่องฉายภาพข้างศีรษะและเครื่องฉายภาพฟิล์มสตริป) ได้จับเอา LCD Panel มาใส่รวมเข้ากับเครื่องฉายภาพข้ามศีรษะแบบหม้อแปลงอิเล็กทรอนิก ที่ใช้ หลอด Metal halide  และทำเป็นPortable เสียด้วยจึงสามารถเครื่องฉายให้เล็กลง และมีความสว่างมากขึ้น นอกจากนี้ยังมี LCD Panel บางรุ่นที่มีคอมพิวเตอร์อยู่ในตัว เพียงเสียบ แผ่น Diskette ก็สามารถ Present ได้เลย ไม่ต้องหิ้วโน๊ตบุ๊คไปให้เสียเวลา

LCD Projector

            LCD Panel เป็นพื้นฐานสำคัญให้กับ LCD Projector  ยูจิน ดอลกอฟฟ์ (Eugene (Gene) Dolgoff)   เป็นคนแรกที่ประดิษฐ์เครื่อง LCD Projector ในปีค.ศ. 1988 เพื่อที่จะออกแบบระบบแสงให้สอดคล้องกับขนาดของแผ่น LCD มีผลทำให้สูญเสียแสงน้อยลง ได้ความสว่างมากขึ้น ขนาดเครื่องที่เล็กลงและสะดวกในการพกพา เครื่องLCD Projector  สมัยแรกยังใช้หลอด halogen อยู่ แต่ต่อมาจึงเปลี่ยนมาใช้หลอด  Metal halide lamp  เพื่อให้แสงมีสีขาวและสว่างกว่า  LCD Projector ในยุคแรกได้แก่เครื่องของบริษัท Telex และเครื่องของ eiki จากญี่ปุ่น ที่แสดงได้แต่ภาพจาก video ระบบสี NTSC เท่านั้น

3 LCD Projector

            ในขณะที่ทางฝรั่งขะมักขะเม่นกับการขาย LCD Projector แบบแผ่นเดียว (แผ่นเดียวมีครบทุกสีต่อไปจะเรียกว่า single LCD ครับ) ทางญี่ปุ่นก็เริ่มทำ 3 LCD เพื่อมาแข่งกับฝรั่ง  บริษัทแรกของญี่ปุ่นที่ผลิต 3 LCD Projector มาขายก่อนใครเพื่อนก็คือ Eiki Eikiที่มีสัญญากับ Sanyo ว่าจะผลิตเครื่อง 3 LCD Projector ขายให้ sanyo เอาไปตีตราขายบ้างแต่ต้องหลังจาก Eiki นำออกขายไปได้ 6เดือนก่อน นอกจาก EIKI ยังมี Sharp ที่ทำเครื่องแบบ 3 LCD มาขายเช่นกัน
            เครื่องฉายอิเล็กโทรนิคโปรเจคเตอร์ ที่ใช้เทคโนโลยี 3 LCD กำลังมาแรงมากในขณะนั้น เนื่องจากสามารถแก้ปัญหาที่เกิดจากเครื่องฉายภาพแบบ Single LCD ได้มากกว่า อิเล็กโทรนิคโปรเจคเตอร์ ที่ใช้เทคโนโลยี 3 LCD ให้แสงสว่างได้มากกว่า อมความร้อนน้อยกว่า เครื่องเล็กกว่า แต่ราคาแพงกว่า

            ตอนนี้โลกของ LCD Projector แยกเป็น 2 ค่ายอย่างชัดเจน คือค่ายฝรั่งใช้แบบ single LCD เนื่องจากฝรั่งไม่ชอบทำงานที่ละเอียด จึงนิยมผลิตอิเล็กทรอนิกโปรเจคเตอร์แบบ Single LCD แต่จะใช้หลอดที่มีความสว่างสูง   ในที่สุดเกมส์นี้ 3 LCD เป็นฝ่ายชนะ


ภาพที่ 13 เครื่องฉายภาพอิเล็กทรอนิกแบบ 3 LCD ยุคแรกของ Eiki

DMD โต้กลับ
            หลังจากพ่ายแพ้ในสงคราม LCD ฝากฝรั่งโดยบริษัทชื่อ เท็กซัสอินสตรูเมนท์ (Texas instruments) เป็นบริษัทผลิตเครื่องวัดต่างๆ และเครื่องคำนวณที่มีชื่อเสียงของโลก ซึ่งมีเทคโนโลยีแยกสีเพื่อใช้สำหรับสร้างเพลตให้กับโรงพิมพ์ เทคโนโลยีนี้เป็นชิพกระจกเรียงขนาดเล็ก (micro mirror) ประกอบด้วยกระจกขนาดเล็กเรียงตัวกันแต่ละตัวสามารถพลิกไปมาได้ด้วยแม่เหล็กไฟฟ้าขนาดจิ๋ว เรียกว่า DMD (Digital Mirror Device) บริษัทเท็กซัส อินสตรูเมนท์เห็นว่าเทคโนโลยีที่ตนเองมีอยู่น่าจะเอามาใช้กับเครื่องอิเล็กทรอนิกโปรเจคเตอร์ได้ เท็กซัสอินสตรูเมนท์จึงได้ร่วมมือกับบริษัท n-View ผลิตเครื่องต้นแบบ ที่ใช้ชิพ DMD เป็นตัวสร้างภาพ และเรียกโปรเจคเตอร์เทคโนโลยีนี้ว่า DLP (Digital Light Processing)

 


ภาพที่ 14 ชิพ DLP ของบริษัท Texas Instruments



ภาพที่ 15 DLP เครื่องแรกของโลกจากความร่วมมือของ texas instruments กับ nView


            ฝรั่งที่กำลังหัวเสียกับการพ่ายแพ้กับสงคราม LCD  เมื่อบริษัทเท็กซัส อินสตรูเมนท์ ได้เสนอ DLP ให้แก่ผู้ผลิตจากค่ายฝรั่ง ฝรั่งก็ตีปีกชอบใจเพราะเทคโนโลยีนี้ไม่มีขั้นตอนในการประกอบที่ยุ่งยาก ไม่ต้องมา Alignment ภาพแต่ละสีให้เหนื่อยเปลืองค่าแรง แถมทางเท็กซัสยังเอาใจผู้ผลิตจากยิ่งขึ้นไปอีกด้วยการเสนอขาย เทคโนโลยีแบบประกอบเสร็จ (เรียกว่า Engine) คือทำมาเป็นชิ้นส่วน ภายในชิ้นส่วนกระกอบด้วยแหล่งกำเนิดแสง วงล้อสี DMD เลนส์ฉาย ผู้ผลิตก็เพียงแต่สร้าง power supplies เขียนเมนู ทำตัวถังแล้วนำ Engine ประกอบเข้าได้เลย ส่วนจะมีลูกเล่นอื่นใดก็แล้วแต่ผู้ผลิตจะสร้างสรรค์กันขึ้นไปให้แตกต่างกัน (คล้ายกับโรงงานประกอบรถยนต์ที่ซื้อเครื่องยนต์ยี่ห้ออื่นมาประกอบใส่รถยนต์ของตนเองโดยไม่ต้องมีโรงงานสร้างเครื่องยนต์เอง)

เมื่อ DLP ปะทะกับ 3LCD
            ทั้งสองเทคโนโลยีก็มีข้อดีข้อด้อยต่างกันกินกันไม่ลง อิเล็กทรอนิกโปรเจคเตอร์แบบ DLP มีราคาถูกกว่า อิเล็กทรอนิกโปรเจคเตอร์แบบ 3LCD เล็กน้อย มีน้ำหนักที่เบากว่า มีภาพที่แม่นย่ำกว่า (แบบ 3 LCD เคลื่อนย้ายบ่อยๆแล้วอาจเกิดการเคลื่อนตัวของแผ่นทำให้เกิดภาพซ้อนได้)  มีช่องว่างระหว่างพิกเซลล์น้อยกว่า (บางคนบอกว่าเป็นระบบเพียวดิจิตอล แต่ output ไม่ได้ก่อให้เกิดความได้เปรียบ) แต่ DLP ก็ให้ความอิ่มสีน้อยกว่า 3LCD แม้จะมีการพัฒนาเพื่อเพิ่มคอนทราสแล้วก็ตาม 3LCD เองก็ลดราคาลงมาแข่ง และพัฒนาระบบ 3LCD ให้เป็นเอ็นจิ้นเช่นกัน

Lcos
            เทคโนโลยีล่าสุดของระบบสร้างภาพแบบ LCD คือ Lcos ที่ใช้ LCD แบบรีเฟ็คเตอร์ คือLCD ที่จัดเป็น light Valve ชนิดหนึ่งจะใช้วิธีปิดกั้นแสง แต่ Lcos ใช้การสะท้อนแสง เนื่องด้วยมีรีเฟ็คเตอร์เคลือบไว้ที่ด้านหลังของ LCD ทำให้ลดช่องว่าง(wiring : ทางเดินไฟที่เดินเข้าหาLCD แต่ละพิกเซล) โดยการซ่อนทางเดินไฟไว้ด้านหลังรีเฟ็คเตอร์ ซึ่งทำให้ได้ความสว่างมากขึ้นและพิกเซลล์ที่ชิดกันมากกว่า LCD เทคโนโลยี Lcos เป็นของ JVC โดยใช้ชื่อทางการค่าว่า D-iLa


ภาพที่ 16.  Light Engine ของ Lcos สามารถทำให้เล็กมากๆได้ ปัจจุบันมีการบรรจุโปรเจคเตอร์ไว้ในโทรศัพท์มือถือแล้ว




ภาพที่17 ชิพ Lcos


            Laser Projector
            เทคโนโลยีล้าสุดของอิเล็กทรอนิกโปรเจคเตอร์คือการใช้เลเซอร์ โดยมี Engine ที่เรียกว่า Grating Light Valve เทคโนโลยีนี้แม้จะมีชื่อ Light-valve แต่ความจริง  Grating Light Valve มีระบบการทำงานที่คล้ายกับ DMD มากกว่า เพราะใช้แสงเลเซอร์ยิงเข้าใส่แผ่น  Grating แล้วสะท้อนแสงไปเข้าเลนส์ฉาย ตรงไหนไม่ต้องการให้เกิดแสงก็สะท้อนไปทางเข้าตัวซับแสง เช่นเดียวกับ DMD แต่ Grating Light-valve ใช้เลเซอร์เป็นแหล่งกำเนิดแสงซึ่งเป็นลำแสงแคบ วิธีสร้างภาพจึงใช้การสแกนด์ภาพจากซ้ายไปขวา

   


ภาพที่ 18 แสดงการทำงานของ Grating Light-valve


  เทคโนโลยีหลอดฉาย
            นอกจากการใช้หลอดแบบ Metal – Halide แล้ว ปัจจุบันยังมีการใช้หลอด LED อีกด้วย ซึ่งการใช้หลอด LED มีข้อดีที่เป็นแสงที่มีความร้อนต่ำ อายุการใช้งานยาวนาน กินไฟน้อย จึงใช้พลังงานจากแบตเตอร์รี่ได้ แต่ความสว่างที่ได้ยังน้อย ส่วนใน Grating Light-valve นั้นใช้เทคโนโลยีที่แตกต่างออกไป โดยGrating Light-valve ใช้ลำแสงเลเซอร์เป็นแหล่งกำเนิดแสง

  อนาคต
            ในอนาคตอันใกล้เราจะได้เห็นโทรศัพท์มือถือที่ถ่ายภาพนิ่งหรือวีดีโอแล้วฉายภาพออกจากโทรศัพท์นั้นได้เลย นอกจากนี้ยังจะมีเครื่องฉายภาพโฮโลแกรม 3 มิติแบบรอบตัว โดยไม่ต้องใส่แว่นได้อีกด้วย



อิเล็กทรอนิกโปรเจคเตอร์ฉายภาพเสมือนจริง 3 มิติ


 
  เวอร์ชั่นนิตยสารอัปเดต คลิก  


โดยคุณ :  ปิยะ รีวะไวทยะ

 

 
     
 
 
  ห้างหุ้นส่วนจำกัด วีระซัพพลายส์  
  81-83 ซอย เฉลิมเขตร์ 1 ถนน เฉลิมเขตร์ แขวงวัดเทพศิรินทร์ เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กทม. 10100  
  โทร. (02) 2211424, 2231864, 2239122, 6216198-9 แฟกซ์ (02) 2249231